เช็คราคาแผนประกัน
กรอกข้อมูลเพื่อค้นหาแผนประกัน
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อ *
นามสกุล *
เบอร์โทรศัพท์มือถือ *
|
อ่านแล้ว 89 ครั้ง
ตั้งแต่ลืมตาดูโลกมาหลายสิบปี ในทุกๆ วันที่ ๕ ธันวาคม จะมีภาพแสงไฟสว่างไสวจากต้นไม้ริมถนนราชดำเนิน พลุหลากสีสันบนท้องฟ้า เสียงเพลงสดุดีมหาราชา และสรรเสริญพระบารมี พร้อมแสงเทียนสว่างไสวในมือ กระจ่างชัดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน
ทุกสิ่งที่ทำนั้นล้วนกลั่นออกมาจากหัวใจ และความตั้งใจเพื่อขอบคุณชายผู้หนึ่งที่ตรากตรำทำงานหนักเพื่อคนไทยมาเนิ่นนานกว่า ๗๐ ปี ชายที่ทุกคนเรียกว่า “พ่อ”
ยิ้มสู้ : บทเพลงที่จุดแสงไฟในคืนที่มืดมน
“ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้”
ท่อนหนึ่งในบทเพลง “ยิ้มสู้” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เด็กๆ ผู้พิการทางสายตา และพระราชทานให้นำไปบรรเลง ในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จฯ เยี่ยม เด็กๆ ผู้พิการทางสายตาหลายครั้ง โดยเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ พระองค์ทรงเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ และพระราชทานหีบเพลงเป็นของขวัญที่ถือว่าเป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับเด็กๆ นอกจากนี้เมื่อถึงวันที่ ๕ ธันวาคม หรือวันขึ้นปีใหม่ และวันที่ ๑๒ สิงหาคม ทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีเมตตาพระราชทานเลี้ยงอาหารแก่เด็กๆ ผู้พิการทางสายตา รวมถึงพระองค์ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของ “มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมป์” ด้วย
พระสุรเสียง และบทเพลง “ยิ้มสู้” จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังแสงเทียนที่จุดขึ้นในความมืด ชโลมจิตใจให้มีความหวัง ลองหลับตาลงแล้วใช้ใจฟัง...
แกล้งดิน : เปลี่ยนดินเสื่อมให้เป็นดินอุดม สมบูรณ์ไปด้วยสารอาหาร
“เพราะพ่อรู้พ่อคือพลังแห่งดิน ให้เราพออยู่พอกินกันต่อไป...”
ดิน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในระบบนิเวศน์ ต้นไม้พืชผลจะเจริญงอกงามได้ต้องมีดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักและมีแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ แก้ปัญหา และพัฒนาที่ดินเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรและประชาชนชาวไทยมากมาย อาทิ โครงการแก้ปัญหาดินพรุ หรือ ดินเปรี้ยว ด้วยวิธีการ “แกล้งดิน” โดยทำให้ดินแห้ง และเปียกสลับกันจนดินเปรี้ยวจัดถึงที่สุดจนไม่สามารถปลูกพืชได้ เพื่อศึกษาการเป็นกรดของดิน แล้วหาวิธีแก้ด้วยการใช้น้ำชะล้าง และใช้ปูนมาร์ลหรือปูนฝุ่นคลุกกับดิน
จากนั้นใช้วิธีการปรับสภาพพื้นที่เป็นยกร่องเพื่อปลูกพืชไร่ หรือพืชสวน ที่ปลูกหมุนเวียนกับข้าวได้ หรือปรับพื้นดินให้ลาดเอียงเพื่อให้ระบายน้ำได้ รวมถึงพระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องการปลูกหญ้าแฝก เพื่อช่วยอนุรักษ์ และฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพในพื้นที่เชิงเขา ที่มีการพังทลายของหน้าดิน ทำให้ดินสูญเสียสารอาหารและเสื่อมสภาพ
ด้วยพระราชกรณียกิจด้านการเกษตรและการพัฒนาทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) จึงได้เลือกวันที่ ๕ ธันวาคม เป็นวันดินโลก (World Soil Day) เพื่อเทิดพระเกียรติ
แก้มลิง : กักเก็บในหน้าน้ำ นำไปใช้หน้าแล้ง
หลายคนคงพอจะคุ้นชื่อโครงการ “แก้มลิง” หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและการจัดการทรัพยากรน้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยเมื่อมีน้ำปริมาณมากก็ใช้หลักการระบายน้ำมาเก็บไว้ในบ่อพักน้ำหรือแก้มลิง แล้วมีประตูเปิด - ปิด สำหรับระบายออกเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง รวมถึงทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงหน้าแล้งด้วย ซึ่งคล้ายกับพฤติกรรมของลิงที่เมื่อส่งอาหารให้ มักจะกักตุนอาหารไว้ในกระพุ้งแก้มก่อน แล้วค่อยนำออกมาเคี้ยวก่อนจะกลืนกินในตอนหลัง
ปัจจุบันโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ มี ๓ ที่ทางแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบในการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพและความห่วงใยประชาชน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง
ฝนหลวง : น้ำจากฟ้าชโลมชุ่มฉ่ำทุกหย่อมหญ้า
เพราะน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงเหตุผลนี้จึงมีแนวพระราชดำริ เกิดเป็นโครงการเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยมากมาย “ฝนหลวง” เป็นหนึ่งในโครงการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพและความห่วงใยที่มีให้กับประชาชนชาวไทยเสมอ
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เยี่ยมประชาชนใน ๑๕ จังหวัดทางภาคอีสาน แล้วทรงทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากจากปัญหาขาดแคลนน้ำ และพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร จึงมีแนวพระราชดำริเรื่องฝนที่ตกนอกเหนือจากธรรมชาติ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่กับทรัพยากรที่มีอยู่จนเกิดเป็นโครงการ “ฝนหลวง” ขึ้นในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยพระองค์ทรงติดตามผลการปฏิบัติงานทดลองอย่างใกล้ชิดทุกระยะ รวมถึงทรงดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ทรงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนทุกครั้ง รวมถึงศึกษาพื้นที่ที่ทำการทดลอง เพื่อป้องกันความเสียแก่พืชผลของชาวบ้าน
การทดลองในน่านฟ้าจริงเริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งการทดลองก็ประสบความสำเร็จไปด้วยดี นับเป็นครั้งสายฝนแห่งพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นโปรยปรายให้ความชุ่มชื้นแก่แผ่นดินไทย
โครงการหลวง : น้ำพระราชหฤทัยไปถึงแม้ในที่ห่างไกล
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ชาวเขานิยมการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย เพื่อหารายได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยม แล้วทอดพระเนตรเห็นว่าชาวบ้านที่อยู่แถวนั้นปลูกฝิ่นกับท้อพันธุ์พื้นเมืองหารายได้ แต่ก็ยังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก จึงมีพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง
จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้ง “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” ขึ้นเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ใช้เป็นที่วิจัยและปลูกพืชพันธุ์ไม้เมืองหนาว จากแนวพระราชดำริที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” ด้วยพระราชประสงค์มที่อยากจะช่วยเหลือ ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน และช่วยลดการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย
จวบจนถึงปัจจุบัน โครงการหลวงได้ขยับขยาย ช่วยเหลือ และสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ให้สามรถยืนได้ด้วยตัวเอง และลดเลิกการทำไร่เลื่อนลอยรวมถึงฝิ่นไปได้ในที่สุด ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ขอบคุณข้อมูลจาก
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อ *
นามสกุล *
เบอร์โทรศัพท์มือถือ *