‘หลุมบนถนน’
ภัยเงียบที่คนมองข้าม
ถนนไม่ได้เรียบเนียนและโรยด้วยกลีบกุหลาบ...
เพราะถนนบ้านเราขรุขระ และเต็มไปด้วย หลุม ที่คอยสร้างปัญหารบกวนจิตใจผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ตั้งแต่หลุมเล็กๆตื้นๆหน้าปากซอย ไปจนถึงหลุมใหญ่ยักษ์ตามเส้นถนนเข้าออกต่างจังหวัด โดยปี 2017 กระทรวงกลาโหมใช้งบ 1,013 ล้านบาทในการซ่อมแซมถนน และอุดหลุมรวม 129 เส้นทาง ทำให้เป็นปัญหาหลักพันล้าน พี่หมีจึงคิดว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่นักขับทุกคนต้องรู้ครับ!
หลุมถนน สามารถเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เกิดจากฝีมือมนุษย์และการใช้งานถนน จนถึงการทรุดตัวของหน้าดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หลุมจึงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. หลุมบนถนนทั่วไป
เกิดจากแรงกระแทกของรถยนต์ ฝนฟ้าอากาศ และกาลเวลา กว้างไม่เกิน 2 ฟุต และลึกไม่เกิน 2.3 นิ้ว พบเห็นได้ทั่วไปบนถนนยางมะตอยที่รถพลุกพล่าน
2. หลุมยุบ
มีความกว้างและลึก 1 เมตรขึ้นไป เกิดจากการทรุดตัวของชั้นดินใต้ถนน โดยปากหลุมจะขยายกว้างขึ้นจนกว่าจะเสถียร มักพบเห็นได้บนถนนยางมะตอยตามต่างจังหวัด ที่สร้างบนดินทราย หรือชั้นดินที่มีน้ำบาดาลขังอยู่
หลุมแบบไหนจึงเรียกว่า ‘อันตราย’
- มีความลึกประมาณ 1 ส่วน 3 ของล้อรถ จะทำให้รถไต่ขึ้นจากปากหลุมได้ยากขึ้น โดยเฉพาะรถที่มีตัวเครื่องต่ำ และล้อเตี้ย
- ปากหลุมตั้งฉาก หรือไม่มีความลาดชันพอที่จะให้รถขับเคลื่อนขึ้นจากหลุมเองได้
- ก้นหลุมเป็นโคลน หรือมีน้ำขัง ทำให้รถเร่งไม่ขึ้น ยิ่งพยายามเร่ง ล้อจะยิ่งบดให้พื้นหลุมลึกและลื่นขึ้น
ความเสียหายเมื่อรถตกหลุม
การที่รถตกหลุมอย่างรุนแรง ยิ่งในกรณีที่เร่งความเร็วสูง จะทำให้ช่วงล่างของรถเกิดการกระแทกจนยาง โช๊ค และลูกหมาก อาจมีปัญหาได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาระยะยาวกับรถยนต์
- บังคับรถยาก
- เลี้ยวไม่ค่อยไป
- เครื่องยนต์มีเสียงแปลกๆคล้ายเสียงเหล็กกระทบกัน
วิธีป้องกันภัยหลุมถนน
พอจะขับผ่านหลุม อย่าตกใจ พี่หมีขอให้ทำใจเย็นๆ และปฎิบัติตามหลักการนี้ครับ
- ตรวจสอบลมยางบ่อยๆ เพราะหากยางมีลมพอดีแล้วรถตกหลุม จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดกับรถได้
- จับพวงมาลัยให้แน่น และนิ่ง เพื่อไม่ให้รถไม่เสียศูนย์
- หากไม่สามารถขับเลี่ยงได้ ให้ชะลอก่อนขับผ่านหลุมด้วยความเร็วสม่ำเสมอ ไม่ควรเร่งเครื่องแรงๆ และห้ามเบรคตอนอยู่ในหลุม
- หลีกเลี่ยงการขับผ่านหลุมที่มีน้ำขัง เพราะหลุมอาจลึกและชันกว่าที่เห็น
เจอหลุม แจ้งเลย !
- ประชาชนพบเห็นหลุมถนนสามารถติดต่อศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ (เบอร์โทร 1555) ซึ่งเชื่อมต่อกับ สำนักงานจราจรและกรมขนส่ง โดยตรง
- กรณีต่างจังหวัด หรือพื้นที่ชนบท สามารถยื่นคำร้องเพิ่มเติมได้ผ่านศูนย์ระฆัง